วันศุกร์ที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2555


สื่อการเรียนการสอนประเภทกิจกรรม





  ความหมาย
          กระบวนการการเรียนการสอนที่ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการลงมือกระทำ สื่อการสอนมีความหมายกว้างขวาง ครอบคลุมทั้งวัสดุ อุปกรณ์ และวิธีการต่างๆ ที่นำมาใช้เพื่อถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ให้แก่ผู้เรียน กิจกรรมหรือวิธีการนับเป็นสื่อการสอนที่มีศักยภาพสูงต่อการเรียนรู้ของผู้เรียนทำให้บทเรียนกำเนินไปอย่างสนุกสนาน น่าสนใจ ผู้เรียนทุกคนมีโอกาสร่วมในกิจกรรมตลอดเวลา การใช้วิธีการหรือกิจกรรมเพื่อการเรียนการสอนอาจต้องใช้วัสดุ อุปกรณ์เข้ามาช่วย เพื่อส่งเสริมให้ผู้เรียนเรียนรู้ได้ดียิ่งขึ้น
ลักษณะสื่อกิจกรรมที่ดี
         1. ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการกำหนดวัตถุประสงค์ การทำกิจกรรม และประเมินผลกิจกรรม
         2. ผู้เรียนได้ฝึกฝนพฤติกรรมการเรียนทั้งทางด้านความรู้ เจตคติ และทักษะผสมผสานกันเป็นบูรณาการอย่างเป็นระบบ
         3. มีลักษณะของการกระทำเด่นชัดด้วยการกำหนดคำที่แสดงถึงการกระทำไว้ด้วยทุกครั้ง
         4. กำหนดเงื่อนไขสำหรับประกอบกิจกรรมไว้ชัดเจน สามารถวัดผล และสังเกตพฤติกรรมของผู้เรียนได้
         5. มีเกณฑ์หรือมาตรฐานในการดำเนินกิจกรรม กำหนดพฤติกรรมที่ถือเป็นระดับต่ำสุดที่พึงพอใจ
         6. ใช้เวลาพอเหมาะที่ผู้เรียนจะสามารถดำเนินกิจกรรมให้ประสบผลสำเร็จ และก่อให้เกิดความภาคภูมิใจได้
         7. มีการชี้แนวทางหรือนำทางในการดำเนินกิจกรรมได้เด่นชัด
         8. กิจกรรมต้องตรงกับเนื้อหาและจุดมุ่งหมายที่กำหนดไว้
         9. กิจกรรมไม่มีความยุ่งยากสลับซับซ้อน มีความยากง่ายเหมาะสมกับวัยของผู้เรียน
        10. เป็นกิจกรรมที่ก่อให้เกิดความคิดริเริ่มสร้างสรรค์

                                   

                               สื่อการสอนประเภทกิจกรรมมี 6 ชนิด 

         1. นิทรรศการ
         2. นาฏการ
         3. การสาธิต
         4. การใช้ชุมชนเพื่อการศึกษา
         5. สถานการณ์จำลอง
         6. การศึกษานอกสถานที่
         7. กระบวนการกลุ่ม

                                      


                            นิทรรศการ 

           หมายถึง การจัดแสดงสิ่งของวัสดุ อุปกรณ์มีความสัมพันธ์กันในแต่ละเรื่อง เพื่อเร้าความสนใจให้ผู้ชมมีส่วนร่วมและเรียนรู้ด้วยการดู ฟัง สังเกต จับต้อง และทดลองภายใต้จุดมุ่งหมายอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือจุดมุ่งหมาย โดยการใช้สื่อหลายชนิด เช่น แผนภาพ หุ่นจำลอง ของจริง นอกจากนี้นิทรรศการยังสามารถจัดกิจกรรมอื่น ๆ ประกอบ เพื่อให้เกิดความสะดวก
และรวดเร็วในการสื่อความหมายกับผู้ชม  

                             คุณค่าของนิทรรศการ

         1. ส่งเสริมการทำงานเป็นหมู่คณะ ฝึกความรับผิดชอบ ก่อให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ในทางที่ดี
         2. สื่อต่าง ๆ ที่นำมาจัดแสดงสามารถสื่อความหมายสิ่งที่เป็นนามธรรมให้เป็นรูปธรรมได้
         3. เป็นการจัดการเรียนการสอนตามอัธยาศัย ผู้เรียนมีอิสระในการเรียนรู้ด้วยการดู ฟัง สังเกต
         4. สามารถนำความคิดที่กระจัดกระจายมารวมกันไว้ให้ผู้ชมสรุปเป็นความคิดรวบยอดได้อย่างถูกต้อง          
                
                                  

                             หลักการออกแบบสำหรับนิทรรศการ

               การจัดนิทรรศการให้มีประสิทธิภาพในการเร้าความสนใจ และให้ประสบการณ์ที่ดีแก่ผู้ชม ควรยึดหลักการออกแบบดังต่อไปนี้
                    1. ความเป็นเอกภาพ หมายถึง การออกแบบทุกสิ่งทุกอย่างในการจัดนิทรรศการให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
                    2. ความสมดุล หมายถึง การจัดสิ่งต่าง ๆ ให้ได้สัดส่วนที่ก่อให้เกิดความรู้สึกสบาย ไม่หนักหรือเบาไปด้านใดด้านหนึ่ง
                    3. การเน้น เป็นการจัดสิ่งเร้าให้ดูเด่นเร้าความสนใจตามวัตถุประสงค์ในการจัดนิทรรศการองค์ประกอบต่าง ๆ
ที่เป็นตัวเน้นได้ดี เช่น เส้น สี น้ำหนัก ทิศทาง ขนาด แสง เสียง เป็นต้น
                    4. ความเรียบง่าย การจัดสิ่งเร้าให้มีความเรียบง่ายจะช่วยให้รู้สึกสบายสะดุดตา
                    5. ความแตกต่าง เป็นการจัดองค์ประกอบให้มีลักษณะแตกต่างกัน ให้ความรู้สึกตัดกัน เพื่อความชัดเจนและโดดเด่น
                    6. ความกลมกลืน เป็นการจัดองค์ประกอบให้มีลักษณะใกล้เคียงกัน ให้ความรู้สึกกลมกลืน นุ่มนวล ราบเรียบ

                             นาฏการ 

           หมายถึง การแสดงต่าง ๆ ที่จัดขึ้นสำหรับถ่ายทอดความเข้าใจระหว่างผู้แสดงกับผู้ดูการแสดงนาฏการเป็นการเสนอสิ่งเร้าที่เป็นของจริง หรือเสมือนของจริง ซึ่งเป็นเหตุสำคัญที่ทำให้ผู้เรียนสนใจ และเอื้อประโยชน์ให้เกิดการเรียนรู้ได้สะดวก นาฏการสามารถจัดลำดับการเสนอเป็นเรื่องราวให้ผู้เรียนเกิดความรู้สึกเสมือนว่าตัวเองเข้าไปอยู่ในเหตุการณ์นั้น ๆ ด้วย
                     
                             คุณค่าของนาฏการ

                                    

                1. ทำให้บทเรียนเป็นจริงเป็นจัง น่าสนใจ เกิดความประทับใจและจดจำได้นาน
                2. นักเรียนได้ฝึกทักษะทางภาษา
                3. ส่งเสริมการทำงานร่วมกัน และเปิดโอกาสให้นักเรียนได้แสดงออกได้เข้าใจ
                4. ฝึกความคิดสร้างสรรค์และการแก้ปัญหาร่วมกัน
                5. สร้างและเปลี่ยนแปลงทัศนคติของผู้เรียนไปในทางที่ดี
                6. ช่วยระบายความเครียดและสนองความต้องการตามธรรมชาติของเด็ก
       
                           ประเภทของนาฏการ

                 นาฏการแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ
                        1. นาฏการที่แสดงด้วยคน ได้แก่ การแสดงละคร ละครใบ้ หุ่นชีวิต การแสดงกลางแปลง และการแสดงบทบาทสมมุติ

                                          
                     
                        2. นาฏการที่แสดงด้วยหุ่น ได้แก่ หนังตะลุง หุ่นเสียบไม้ หุ่นสวมมือ และหุ่นชักใย

                                      

                           นาฏการที่แสดงด้วยคน

                   1. การแสดงละคร เป็นการแสดงที่เห็นถึงความเป็นอยู่ อุปนิสัย หรือวัฒนธรรม หรือทั้งสามรวมกัน
ในการแสดงละครจะต้องจัดให้ใกล้เคียง กับสถานการณ์จริง ๆ มากที่สุดโดยอาจต้องจัดสภาพแวดล้อม จัดฉากการแต่งกายและส่วนประกอบต่าง ๆ รวมถึงการเตรียมบทการฝึกซ้อม
                   2. ละครใบ้และหุ่นชีวิต  ละครใบ้เป็นการแสดงลักษณะท่าทางการเคลื่อนไหว
และสีหน้าให้ผู้ดูเข้าใจ โดยผู้แสดงไม่ต้องใช้คำพูดเลย  การแสดงเช่นนี้ช่วยฝึกพัฒนาการในด้านการเคลื่อนไหวอวัยวะต่าง ๆ ให้ผู้ดูเข้าใจ
                   3. การแสดงกลางแปลง  เป็นการแสดงกลางแจ้ง เพื่อการถ่ายทอดศิลปะและวัฒนธรรมพื้นบ้านตลอดถึงประเพณีหรือพิธีการต่าง ๆ ในท้องถิ่น โดยใช้ผู้แสดงหลายคน
                   4. การแสดงบทบาท  เป็นการแสดงโดยใช้สถานการณ์จริง หรือเลียนแบบสถานการณ์จริงในสภาพที่เป็นปัญหา มาให้ผู้เรียนหาวิธีแก้หรือใช้ความสามารถความคิดในการวินิจฉัย ตัดสินปัญหาใช่วงเวลา 10-15 นาทีการแสดงแบบนี้ส่วนมาก ไม่มีการซ้อมหรือเตรียมการล่วงหน้า ผู้แสดงจะใช้ความสามารถและแสดงบทบาทไปอย่างอิสระ

                            นาฏการที่แสดงด้วยหุ่น 

                 หุ่น  เป็นตัวละครที่ไม่มีชีวิต เคลื่อนไหวด้วยการกระทำของมนุษย์เรา สร้างหุ่นด้วยวัสดุง่าย ๆ เพื่อการถ่ายทอด
เรื่องราวและแนวคิดต่าง ๆ ให้กับผู้เรียนโดยเฉพาะกับเด็กในวัย 2-6 ปี เด็กในวัยนี้ชอบการเล่น สมมุติ และเรื่องราวที่เป็นจินตนาการ
การเคลื่อนไหวของหุ่นจึงสามารถเร้าความสนใจของเด็กได้เป็นอย่างดี

                                      

                             คุณค่าของหุ่น

                  1. หุ่นใช้แสดงเรื่องราวต่าง ๆ ได้สะดวกและง่ายกว่าการแสดงโดยใช้คนจริง ทำให้ประหยัดทั้งเวลาและค่าใช้จ่าย
                         
                  2. ผู้เรียนได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมอย่างทั่วถึง
                  3. พัฒนาทักษะในการเขียน การคิด การแสดงออก การทำงานกลุ่ม และช่วยเหลือเด็กขี้อายให้มีความกล้ามากขึ้น
                  4. ผู้เรียนทุกคนพอใจและสนใจในการเรียน
                           
                                         ประเภทของหุ่น

                   หุ่นมีหลายประเภทแตกต่างกันดังนี้
                   1. หุ่นเงา  เป็นหุ่นที่ฉลุจากหนังสัตว์ หรือกระดาษแข็งแล้วใช้ไม้ไผ่ยึดเป็นโครงสำหรับเชิดและ
บังคับให้หุ่นเคลื่อนไหว เวลาแสดงจะต้องใช้ตัวหุ่นอยู่หลังจอ แล้วใช้แสงส่องให้เกิดเงาบนจอ เช่น หนังตะลุง
                   2. หุ่นเสียบไม้ หรือหุ่นกระบอก  เป็นหุ่น 3 มิติที่ใช้แท่งไม้เสียบกับคอหุ่นเพื่อให้ผู้เชิดถือขณะเชิดหุ่น
การทำหุ่นชนิดนี้มีตั้งแต่แบบยาก ๆ เช่น กระพริบตา ขยับปากได้จนถึงแบบง่าย ๆ ที่ไม่มีส่วนเคลื่อนไหว ซึ่งสามารถนำมาใช้ในการเรียน
การสอนได้ เวลาแสดงหุ่นแบบนี้ผู้เชิดหุ่นจะอยู่ตอนล่างด้านหลังของเวที
                   3. หุ่นสวมมือ  เป็นหุ่นขนาดเล็กครึ่งตัวมีขนาดพอเหมาะกับขนาดของมือที่เชิดหุ่น
หัวหุ่นทำด้วยกระดาษหรือผ้าเป็นหัวคน หรือสัตว์ มีเสื้อต่อที่คอหุ่นใต้ลำตัวและแขนกลวง เพื่อสอดมือเข้าไปเชิดให้เกิดการเคลื่อนไหว
เนื่องจากหุ่นมือเป็นหุ่นที่ทำได้ง่าย เชิดง่าย จึงนิยมนำมาใช้ในการเรียนการสอนมากกว่าหุ่นชนิดอื่น  
                   4. หุ่นชัก  เป็นหุ่นเต็มตัว ที่ใช้เชือก ด้าย หรือไนล่อนผูกติดกับอวัยวะต่าง ๆ ของหุ่น แล้วแขวนมาจาก
ส่วนบนของเวที ผู้ชักหุ่นจะบังคับเชือก ควบคุมการเคลื่อนไหวของหุ่นให้ทำกิริยาท่าทางต่าง ๆ ได้คล้ายคนจริง ๆ แต่การบังคับหุ่นทำได้ยาก
และต้องใช้เวลาฝึกฝนนานจึงไม่ค่อยได้นำมาใช้ในวงการศึกษามากนัก

                                                    
                                         

                                    หลักการใช้หุ่นกับการสอน

                     1. เวลาที่ใช้แสดงควรเป็นช่วงสั้น ๆ
                     2. พิจารณาว่าได้ประโยชน์คุ้มค่ากับการลงทุนลงแรงเพียงไร เพราะการใช้นาฏการอาจต้องเสียค่าใช้จ่าย เช่น ค่าเครื่องแต่งกาย และวัสดุต่าง ๆ
                     3. พยายามให้เด็กทุกคนมีส่วนร่วมในการแสดงให้มากที่สุด แม้จะไม่ได้เป็นตัวละครก็ควรให้มีส่วนในการวางแผน ช่วยเหลือการแสดงและประเมินผล
                     4. จัดนาฏการให้เหมาะสมกับพื้นฐานความรู้ ความสนใจ และวุฒิภาวะของเด็ก
                     5. ควรใช้สื่อการสอนอื่นมาประกอบด้วย
                     6. ควรเลือกแสดงในเรื่องที่สามารถทำเรื่องยากให้ง่ายต่อการเข้าใจ เรื่องนามธรรมให้เป็นรูปธรรม หรือเรื่องที่เกี่ยวข้องกับคุณธรรมจริยธรรมต่าง ๆ
                     7. จัดนาฏการให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้เรียน

                                   การสาธิต 

               หมายถึง การสอนโดยวิธีอธิบายข้อเท็จจริง ความคิด และขบวนการต่าง ๆ พร้อมกับการใช้วัสดุหรือเครื่องมือแสดงให้ผู้เรียนได้สังเกตไปด้วย การสาธิตใช้ได้ดีกับเนื้อหาวิชาที่มีลักษณะเป็นลำดับขั้นตอนและกระบวนการ
            
                                  คุณค่าของการสาธิต

                   1. เป็นจุดรวมความสนใจของนักเรียน
                   2. แสดงขั้นตอนหรือเรื่องราวที่เป็นขบวนการได้ดี โดยเฉพาะในการสอนวิชาทักษะ เช่น ดนตรี การใช้เครื่องมือวิทยาศาสตร์ ฯลฯ
                   3. เป็นกิจกรรมที่เปิดโอกาสให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมอย่างจริงจัง เช่น การสังเกต วิจารณ์ และปฏิบัติด้วยตนเอง
                   4. ช่วยให้ผู้เรียน เรียนด้วยความสนุกสนานและเข้าใจเนื้อหาที่เรียนดีขึ้น
                   5. ฝึกให้ผู้เรียนมีวิจารณญาณ และเสริมสร้างทัศนคติที่ถูกต้องให้กับผู้เรียน
                   6. ลดเวลาในการลองผิดลองถูกของผู้เรียนให้น้อยลง
                   7. สามารถใช้สอนได้ทั้งวิชาที่ต้องใช้วัสดุอุปกรณ์ประกอบ และวิชาที่มีลักษณะเป็นนามธรรม
                   8. ประหยัดค่าใช้จ่าย ทุ่นเวลา และป้องกันอันตราที่เกิดขึ้นกับนักเรียนได้ดี
 โอกาสในการสาธิต
             
              การใช้วิธีการสาธิต เพื่อการเรียนการสอนอาจทำได้หลายโอกาส คือ

                    1. ใช้วิธีสาธิตเพื่อนำเข้าสู่บทเรียนเรื่องใหม่ เพื่อเป็นการเร้าความสนใจให้กับผู้เรียน
                    2. ใช้เพื่อสร้างปัญหาให้ผู้เรียนคิดและหาทางแก้ไขปัญหา
                    3. เพื่อการสร้างความเข้าใจในเนื้อหา หลักการ และความคิดรวบยอดของบทเรียน
                    4. ช่วยแก้ปัญหาการสอนในกรณีที่มีเครื่องมือจำกัด ราคาแพง และอาจเป็นอันตรายต่อผู้เรียน
             
                                การใช้ชุมชนเพื่อการศึกษา

               หมายถึง การใช้แหล่งวิชาการและสภาพแวดล้อมของชุมชนให้เป็นประโยชน์ต่อการเรียนรู้ เพื่อขยายประสบการณ์ของผู้เรียนให้กว้างขวาง มีโอกาสสัมผัสใกล้ชิดกับสภาพความเป็นจริงมากขึ้น และช่วยให้ผู้เรียนสามารถนำความรู้ ประสบการณ์ไปใช้แก้ปัญหาในการดำรงชีวิตในโอกาสต่อไป                                                                       

                                 ประโยชน์ของการใช้ชุมชนเพื่อการศึกษา

                1. ทำให้ผู้เรียนคุ้นเคยกับสิ่งแวดล้อมและรู้จักปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อม
                2. เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้นำความรู้จากห้องเรียนไปใช้จริง ๆ กับการเชื่อมโยงสภาพการณ์ในห้องเรียนกับสภาพความเป็นจริง
                3. แหล่งวิชาการในชุมชน ขยายความรู้เพิ่มเติมจากที่ครูสอนในหลักสูตรให้สมบูรณ์ขึ้นช่วยให้นักเรียนพบเห็นสิ่งที่เป็นจริง
                4. แหล่งวิชาการในชุมชนมีมากมายอยู่แล้ว ทั้งสถานที่และบุคคล ถ้าครูเลือก และนำมาใช้ให้เหมาะสมก็จะได้ผลคุ้มค่า
เพราะเสียค่าใช้จ่ายน้อยหรือไม่เสียเลย
                 5. เปลี่ยนบรรยากาศในการเรียน ให้ผู้เรียนได้พบสิ่งแปลก ๆ ใหม่ ๆ เร้าความสนใจและเพิ่มพูนความเข้าใจ
                 6. ฝึกนิสัยช่างซักถาม และสังเกตพิจารณา
                 7. ฝึกการทำงานร่วมกัน ฝึกความรับผิดชอบ มนุษย์สัมพันธ์ ระเบียบวินัย และการตรงต่อเวลา
                 8. เปิดโอกาสให้นักเรียนใช้ทักษะด้านการพูดภาษา การเขียน การคิดคำนวณ ศิลปะ
                 9. แก้ปัญหาครูไม่มีความรู้ ความคุ้นเคยกับชุมชน
                 10. มีผลต่อการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงทัศนคติผู้เรียน
                11. สร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างสถานศึกษาและชุมชน นับเป็นการประชาสัมพันธ์สถานศึกษาอย่างหนึ่ง

                                   แหล่งทรัพยากรการเรียนรู้ในชุมชน

                 แหล่งทรัพยากรการเรียนรู้ในชุมชนมีหลายประเภท กล่าวโดยสรุปคือ
                      1. บุคคล ได้แก่ ผู้มีประสบการณ์โดยตรงอยู่ในสาขาอาชีพต่าง ๆ เช่น ตำรวจ พ่อค้า นักธุรกิจ เกษตรกร
                      2. สถานที่ ได้แก่ ทุ่งนา แม่น้ำ ภูเขา ป่าไม้ โรงงาน สถานที่ราชการ สโมสร และสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ
                      3. วัสดุอุปกรณ์ในชุมชนที่สามารถนำมาเป็นสื่อการสอน เช่น เครื่องมือเครื่องใช้ต่าง ๆ ผลผลิตทางการเกษตร
และงานศิลปหัตถกรรมในชุมชน
                      4. กิจกรรมของชุมชน ได้แก่ การละเล่นพื้นบ้าน งานประเพณี และพิธีต่าง ๆ เช่น การบวช แต่งงาน ทอดกฐิน

                                     วิธีการใช้ชุมชนเพื่อการศึกษา

                      1. การศึกษาภายในบริเวณโรงเรียน เป็นการใช้แหล่งทรัพยากรนอกห้องเรียนที่ทำได้สะดวกที่สุด แหล่งวิชาการ
อาจเป็นได้ทั้งสิ่งมีชีวิตและไม่มีชีวิตในบริเวณโรงเรียน เช่น สนามหญ้าต้นไม้ สระน้ำ
                      2. การศึกษาในชุมชนที่โรงเรียนตั้งอยู่ หมายถึง สถานที่ในชุมชนที่ไม่ไกลจากโรงเรียนมากนัก การศึกษาแบบนี้
ทำได้ง่ายไม่สิ้นเปลืองทั้งเวลาและค่าใช้จ่าย ไม่ต้องขออนุญาตเจ้าสังกัดให้ยุ่งยากวุ่นวาย
                      3. การเชิญวิทยากรมาบรรยาย หมายถึง การเชิญบุคลากรจากสาขาอาชีพต่าง ๆ ที่มีประสบการณ์โดยตรง
                      4. การทัศนาจรการศึกษาหรือทัศนะศึกษา เพื่อการพานักศึกษาออกไปศึกษาหาความรู้จากแหล่งชุมชนอื่นที่ไกลจากที่โรงเรียนตั้งอยู่ ซึ่งจะต้องปฏิบัติตามระเบียบของสถานศึกษาและต้องได้รับอนุญาตจากผู้ปกครองของผู้เรียนก่อนด้วย
                   
                                สถานการณ์จำลอง 

             สถานการณ์จำลอง เป็นการจัดสภาพแวดล้อมเลียนแบบของจริงให้ใกล้เคียงสภาพความเป็นจริงให้มากที่สุด เพื่อให้ผู้เรียนได้ฝึกหัดแก้ปัญหาและตัดสินใจจากสภาพการณ์ที่เขากำลังเผชิญอยู่นั้น การจัดสถานการณ์จำลอง เป็นการเตรียมความพร้อมให้กับคนที่ออกไปเผชิญกับปัญหาจริง ๆ เช่น นักเรียนฝึกหัดครู ก่อนที่จะสอนต้องได้รับการฝึกฝนด้านวิชาการสอน วิธีฝึกอย่างหนึ่งที่ได้ผลดีคือ การฝึกจากสถานการณ์จำลองนั่นเอง
                               
              ขบวนการแก้ปัญหาในสถานการณ์จำลอง เมื่อเสนอสถานการณ์จำลองให้กับผู้เรียนแล้ว ครูควรสรุปแนวทางในการแก้ปัญหา
ให้กับผู้เรียนแล้วให้นักเรียนเข้าร่วมมีบทบาทในการแก้ปัญหาด้วยตนเอง แนวทางในการแก้ปัญหาโดยทั่วไปจะ        

                                  ประกอบด้วย

               1. ปัญหาคืออะไร
               2. สาเหตุของปัญหา
               3. รวบรวมข้อมูลเพื่อประกอบการตัดสินใจ
               4. หาทางเลือกสำหรับการตัดสินใจ (อาจมีหลายทาง)
               5. ตัดสินใจเลือกวิธีแก้ปัญหาที่มีเหตุผลดีที่สุด
               6. ลงมือแก้ปัญหาตามวิธีที่เลือก
               7. ประเมินผลการแก้ปัญหา
               8. พิจารณาปรับปรุงผลของการแก้ปัญหาเพื่อนำไปใช้ต่อไป

                                  การใช้สถานการณ์จำลองในการสอน

                ลำดับขั้นในการใช้สถานการณ์จำลองในการสอน ครูอาจทำได้ตามขั้นตอนต่อไปนี้ คือ
                    1. ผู้สอนเสนอสถานการณ์ที่ทำให้เกิดปัญหา
                    2. ผู้เรียนศึกษาปัญหารวบรวมข้อมูลเอเป็นแนวทางตัดสินใจ และแก้ปัญหาตามขั้นตอน จนกระทั่งได้ข้อสรุป
การทำงานในขั้นนี้นิยมแบ่งผู้เรียนเป็นกลุ่มย่อย เพื่อหาแนวทางของแต่ละกลุ่ม
                    3. แต่ละกลุ่มเสนอวิธีการแก้ปัญหาของตนต่อชั้นเรียน
                    4. ผู้สอนและผู้เรียนช่วยกันประเมินค่าโดยพิจารณาเหตุผลว่าวิธีการใดที่ดี และมีเหตุผลดีที่สุด สำหรับการแก้ปัญหานั้น ๆ

                                 การศึกษานอกสถานที่ 

              การศึกษานอกสถานที่หรือทัศนะศึกษา หมายถึง กิจกรรมที่พาผู้เรียนออกไปหาประสบการณ์นอกห้องเรียน เพื่อให้เกิดการเรียนที่สอดคล้องกับเนื้อหาและวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ การไปทัศนะศึกษาต่างจากการทัศนาจรโดยทั่ว ๆ ตรงที่ การทัศนาจรมุ่งความสนุกสนานเพลิดเพลินเป็นสำคัญ ส่วนการศึกษานอกสถานที่เน้นการเรียนรู้เพื่อเพิ่มพูนประสบการณ์ให้แก่ผู้เรียน ซึ่งต้องอาศัยการวางแผนและการดำเนินการอย่างมีขั้นตอนเป็นสำคัญ
                           
                           การศึกษานอกสถานที่
          คุณค่าของการศึกษานอกสถานที่
                  1. ช่วยให้ผู้เรียนมีประสบการณ์ตรง
                  2. ช่วยให้บทเรียนมีความหมายยิ่งขึ้น
                  3. ช่วยให้ฝึกฝนระเบียบวินัย การตรงต่อเวลา และมนุษย์สัมพันธ์
                  4. ช่วยส่งเสริมการทำงานร่วมกันทั้งก่อนและหลังการทำกิจกรรมทัศนะศึกษา
                  5. ช่วยให้ผู้เรียนได้ร่วมกิจกรรมการเรียนอย่างเพลิดเพลิน
                  6. ช่วยให้การเรียนรู้เป็นไปในลักษณะบูรณาการ

                       กระบวนการกลุ่ม

              เป็นการเรียนรู้ที่ผู้เรียนได้รับความรู้จากการลงมือร่วมกันปฏิบัติเป็นกลุ่ม หลักการเรียนรู้ที่สำคัญของกระบวนการกลุ่ม คือ ให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในกิจกรรมการเรียนรู้ด้วยตนเองด้วยการเข้ากลุ่มกับสมาชิก มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและร่วมกันวิเคราะห์สิ่งต่างๆที่เกิดขึ้น
                                 
         การจัดการเรียนรู้กระบวนการกลุ่ม หลักการสอนตามทฤษฎีกลุ่มสัมพันธ์แบ่งออกเป็นหลักการใหญ่ๆ 5 ข้อ
        1 ตั้งจุดมุ่งหมายของการเรียนการสอน กระบวนการเรียนการสอนแต่ละวิชา
        2 การจัดประสบการณ์การเรียนรู้ คือการจัดกิจกรรมเพื่อให้สนองตามจุดมุ่งหมายในการจัดกิจกรรม
        3 การให้ผู้เรียนได้วิเคราะห์ประสบการณ์การเรียนร่วมกัน ในขั้นนี้เป็นขั้นที่ผู้เรียนจะได้วิเคราะห์ถึงสิ่งที่กระทำลงไป
        4 การส่งเสริมให้ผู้เรียนสามารถสรุปและนำหลักการไปประยุกต์ใช้เมื่อผู้เรียนได้แนวคิดที่ถูกต้องแล้ว
        5 การประเมินผล เป็นขั้นสุดท้ายของการเรียนการสอนแบบกิจกรรมกลุ่มวิธีการประเมินผล

                         บทสรุป

         สื่อกิจกรรมเป็นกระบวนการจัดการเรียนการสอนที่ให้ผู้เรียนได้เข้าร่วมกิจกรรม   เพื่อให้มีโอกาสเรียนรู้ประสบการณ์ต่างๆ ด้วยตัวเอง สื่อกิจกรรมมีคุณค่ามากมายในด้านการส่งเสริมให้ผู้เรียนกล้าแสดงออกและสามารถทำร่วมกับผู้อื่นได้   ผู้เรียนจะค้นพบความรู้จากการปฏิบัติ  นอกจากนี้สื่อกิจกรรมส่วนใหญ่จะให้ความเพลิดเพลินสนุกสนาน  สื่อกิจกรรมที่ดีควรให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมกำหนดขอบข่ายเนื้อหา   วัตถุประสงค์  เข้าร่วมกิจกรรมและประเมินผล   ควรเป็นกิจกรรมที่ก่อให้เกิดการเรียนรู้ในด้านความรู้    เจตคติ  และทักษะอย่างบูรณาการ  ทั้งนี้ต้องตรงกับเนื้อหาและจุดมุ่งหมายของบทเรียน   ก่อให้เกิดความคิดริเริ่มสร้างสรรค์   อยู่ในความสนใจและมีความยากง่ายเหมาะสมกับผู้เรียน  สื่อกิจกรรมที่นำมาใช้ในการเรียนการสอนมีหลายประเภท เช่น  การสาธิต   การจัดนิทรรศการ  นาฏการ   การใช้ชุมชนเพื่อการศึกษา   สถานการณ์จำลอง และการศึกษานอกสถานที่